การเสียวฟัน
รายงานการประชุมวิชาการทันตแพทย์ 2/2563
การเสียวฟันมีสาเหตุมากมาย ส่วนใหญ่จะพบอาการเสียวฟันหลังการอุดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
วัสดุอมัลกัม แต่ที่พบบ่อยคือการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ชนิดเรซินคอมโพสิต
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟันดังกล่าว มีดังนี้
1. สาเหตุจากการสึก การกรอตัด หรือการเกลารากฟัน ทำให้มีการเปิดออกของท่อเนื้อฟัน เมื่อมีสิ่งกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นความร้อน ความเย็น
การสั่นสะเทือนมีผลกระตุ้นในโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการเสียวฟันได้
2. แรงจากการบดเคี้ยว ทำให้เสียวฟันโดยที่ผิวเนื้อฟันไม่ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม แต่เกิดจากการบดเคี้ยวแล้วทำให้เกิดการโค้งงอของ
ยอดฟัน และมีผลทำให้ท่อเนื้อฟันมีการไหลของเหลวเข้าออกมากขึ้น ทำให้เสียวฟันได้
3. เกิดจากมีการสัมผัสของผิวเนื้อฟันและมีการอักเสบในโพรงประสาทร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากแบคทีเรียเข้าไปสู่ชั้นโพรงประสาทฟัน
4. การเสียวฟันภายหลังการอุดฟัน
4.1 เกิดจากขั้นตอนการกรอเตรียมโพรงฟันเพื่อการบูรณะและมีการสั่นสะเทือน การเป่าลม การใช้ความร้อน ทำให้น้ำในท่อเนื้อฟัน
เคลื่อนไหวและมีการเสียวฟันเกิดขึ้น
4.2 เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุจากการกรอฟันครั้งก่อนๆ จะเกิดขึ้นกับโพรงประสาทฟันโดยตรง ทุกครั้งที่มีการกรอตัดเนื้อฟัน ไม่ว่า
จะเป็นการรื้อวัสดุเก่าออกหรือการกรอเตรียมโพรงฟันใหม่ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับโพรงประสาทฟัน
4.3 การใช้กรดกัดบนผิวเนื้อฟัน ทำให้ท่อเนื้อฟันเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ของเหลวในท่อเนื้อฟันไหลอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหลังการ
ใช้น้ำล้างกรดออกและเป่าให้แห้ง
4.4 ความเป็นพิษของวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน ปกติจะเกิดจากส่วนที่หลงเหลือของโมโนเมอร์ที่ไม่เกิดกระบวนการพอลีเมอไรเซชั่น
4.5 การมีจุดสบสูง เมื่อไม่ได้รับการกรอแก้ไขจะทำให้เสียวเมื่อเคี้ยวอาหาร
4.6 การใช้วัสดุเรซินคอมโพสิตที่ไม่แข็งแรงพอ โดยไม่มีความแข็งพอแต่มีความยืดหยุ่น เมื่อใช้งานและมีแรงบดเคี้ยวลงไปบนวัสดุ
แรงบดเคี้ยวจะไม่ทำให้วัสดุแตกหัก แต่จะมีการดัดหรืองอตัวและดึงรั้งยอดฟันเข้าหากัน ทำให้เกิดการเสียวฟัน
4.7 กระบวนการหดตัวจากการฉายแสง พบว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด อาจเกิดเมื่อใช้งานบดเคี้ยว เมื่อทานอาหารรสหวาน
หรือได้รับสิ่งกระตุ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สาเหตุของการเสียวฟันหลังบูรณะฟันเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ดังนั้นการแก้ไขต้องดูจากสาเหตุที่เกิดขึ้น ถ้าเกิด
จากการบูรณะ ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจรื้อเพื่อบูรณะใหม่ เพราะอาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เนื่องจากทุกครั้งที่ทำการกรอรื้อวัสดุจะมีผลกระทบ
กระเทือนไปถึงชั้นโพรงประสาทเสมอ อาจจะทำให้คนไข้ที่ไม่มีอาการทางโพรงประสาทมาก่อนการรื้อวัสดุ เกิดอาการดังกล่าวหลังรื้อวัสดุ ซึ่งเป็นปัญหา
ที่พบบ่อยและแก้ไขยาก ดังนั้น ทันตแพทย์ควรตรวจสอบ วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ก่อนจะทำการแก้ไข บางครั้งการรอดูอาการ 2-4 สัปดาห์ก็
เพียงพอเนื่องจากโดยปกติภายหลังการกรอตัดถึงเนื้อฟันแล้วร่างการจะมีการซ่อมสร้างชั้นเนื้อฟันเสริมขึ้นมาเพื่อลดความสามารถในการยอมให้เกิดการ
ไหลผ่านของของเหลวในฟัน ทำให้อาการหายไป ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
ทพญ.ปาลิน สัปปินันทน์